คุยกับนอท บ้านกูเอง เปิดมุมมอง “การเป็นตัวของตัวเอง” ที่ไม่มีอะไรเป็นตัวเราจริง ๆ 100 %
14 February 2563
Highlights
- ในยุคที่โลกของเราเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น การมีไลฟ์สไตล์ที่เป็นตัวของเราก็มากขึ้นเรื่อย ๆ เเต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่กล้าจะเป็นในเเบบที่ิยากเป็น เพราะกลัวการเเปลกเเยก คำวิพากษ์วิจารณ์ MasterMind จึงได้ชวน คุณนอท สัณหณัฐ ทิราชีพ เป็นที่รู้จักจากการตั้งเพจเฟซบุ๊ก บ้านกูเอง (เป็นเพจล้อเลียน ขายขำ ที่คนทำไม่ขำ) มาเปิดมุมมอง ‘การเป็นตัวของตัว’ ของเขา ผ่านงานศิลปะที่เขาชอบ ในเพจ Thiracheep
- คุณนอทเอง บอกว่า “การเป็นของตัวของเอง” สำหรับเขาเเล้ว มันไม่มีอยู่จริง ทุกคนเป็นคนอื่นที่ผสมกัน ที่มันเกิดจากการเอาสิ่งที่ชอบที่เราเห็นจากคนอื่น มาประกอบกันกลายเป็นตัวเรา เพราะฉะนั้นไม่มีใครเป็นตัวของตัวเอง 100 %
เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563 เวลา 06.00 น. เที่ยวบินจากไต้หวัน ได้เเลนดิ้งลงสนามบินในประเทศไทย นั้นคือเวลาที่คุณนอทเดินทางกลับจากเที่ยวปีใหม่ที่ประเทศไต้หวัน เเละในช่วง 10.00 น. เขาก็มีนัดสัมภาษณ์กับเรา นั้นหมายความว่าเขามีเวลาพักเเค่เเป๊บเดียว ไม่ใช่เพราะเขาบ้างาน กลับจากเที่ยวปุ๊บ เเล้วอยากรีบทำงาน เเต่เพราะเขาจำเวลาเที่ยวบินกลับไทยผิด ยังไม่ทันได้นั่งพูดคุยกัน ก็เห็นได้ถึงความเป็นตัวเองของเขา ที่จริงจังกับทุกเรื่องที่ตัดสินใจทำ เเต่ก็เเอบซ่อนความโก๊ะอยู่ในตัว ไม่รอช้า เราไปทำความรู้จักตัวตนที่เเทนจริง กับมุมมองการเป็นตัวของตัวเองที่โตเกินวัยของเขากันเลยดีกว่า!
ทุกคนเป็นคนอื่นที่ผสมกัน
การเป็นตัวของตัวเอง สำหรับคุณนอทคืออะไร
สำหรับเรา เราว่า ‘เป็นตัวของตัวเอง’ มันไม่มีอยู่จริง มันไม่มีใครเป็นตัวของตัวเองอยู่แล้ว ทุกคนเป็นคนอื่นที่ผสมกัน มันไม่มีใครคิดมาเองว่า “เอ้ย! เราจะใส่เสื้อแบบนี้แหละ เราจะเดินแบบนี้” เสื้อผ้าเราก็เห็นจากที่คนอื่นเขาผลิตมา หรือเห็นจากที่คนอื่นเคยใส่ แล้วเราชอบเทสการถ่ายรูป ฟิวเตอร์ต่าง ๆ ที่เราชอบ เราก็เห็นจากคนอื่น หนังที่เราชอบดูมันเป็นหนังที่คนอื่นสร้าง หรือแม้แต่วันนี้ที่เราแต่งวันวันนี้มา เราก็ได้รับบรีฟมาว่าต้องใส่สีขาวหรือสีเหลือง เพราะฉะนั้นไม่มีใครเป็นตัวของตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์!
มองว่าอย่างไร ? กับการที่ต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อใครคนหนึ่ง หรือเปลี่ยนตัวเองตามกระเเสเเฟชั่นเเละสังคมเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ
บางทีเราบอกว่า ‘เราไม่เป็นตัวของตัวเอง’ เพราะเราต้องทำตามเขา หรือเราต้องเปลี่ยนเพื่อคนนี้ หรือเปลี่ยนเพื่อรูปแบบสังคม เราต้องถามว่า ‘เรารักตัวเองมากแค่ไหน’ มากกว่า เพราะว่าคนเรามันไม่มีการเป็นตัวของตัวเองอยู่แล้ว
ถ้าเรามีความรักตัวเองมากพอ เราก็จะเหมือนดื้ออะ จะพูดว่าเห็นแก่ตัวก็ได้ แต่เราจะทำแบบนี้ กูจะเอาแบบนี้ โดยที่มันอาจจะไม่เกี่ยวกับว่าเราเป็นตัวของตัวเองหรือเปล่า หรือเราต้องเปลี่ยนตัวเองหรือเปล่า เพราะในบริบทบางเรื่องที่มันยอมกันได้ หรือบางเรื่องที่มันเป็นรูปแบบสังคมที่มันจำเป็นต้องทำ หรือว่าทำเพื่อใครสักคนที่เรารู้สึกอยากลดทอนความต้องการของตัวเองให้มันน้อยลง แล้วเพิ่มความต้องการของเขาให้มาขึ้น มันก็จะสามารถทำได้ในบางโอกาส
เพราะฉะนั้นเราอาจจะไม่ได้เป็นตัวของตัวเองสูงเลย เราสามารถเลือกที่จะเป็นตัวของตัวเองได้ เรามองว่าไม่ใช่ เรามองว่ามันเป็นการเห็นแก่ตัวมากกว่า เรารักตัวเอง เราแค่อยากมีความสุข เราก็เลยสามารถตัดอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่จำเป็นต้องฝืนตัวเอง
ถ้าเขาไม่กล้าออกจากเซฟโซน นั่นแปลว่าเขาเป็นตัวของตัวเองในเวอร์ชั่นเซฟโซน
เราจะเป็นตัวของตัวเองอย่างไร ? ให้เข้ากับกระเเสเเฟชั่นในสังคมที่เปลี่ยนไปทุกวัน โดยที่เราไม่รู้สึกเเปลกเเยก
ถ้าไม่กล้า ก็แปลว่าไม่กล้า แค่นั้น ถ้ารู้สึกว่ากล้าก็ทำ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็แปลว่าทำไม่ได้ ถ้าอยากจะทำมันทำได้ สำหรับตัวเรา เรารู้สึกว่า ‘คำพูดคนอื่น’ ไม่ได้อยากทำให้เราอยากจะเปลี่ยน สมมติมีคนมาบอกว่า ‘ลองทำแบบนี้สิ น่าจะเป็นตัวเองที่ดีขึ้นนะ’ ไม่สนใจ! เราแค่อยากจะทำให้แบบที่เราอยากจะทำ เราแค่รู้สึกว่า เราไม่สามารถที่จะพูดบรีฟให้คนเป็นตัวของตัวเอง เพราะว่าถ้าเราบรีฟให้เขาเป็นตัวของตัวเองได้ นั้นแปลว่าเขาเป็นแบบเรา เพราะว่าเขาเชื่อเรา ถ้าเขาอยากเป็นตัวของตัวเองได้ เขาเป็นได้ด้วยตัวเอง ถ้าเขาไม่กล้าออกจากเซฟโซน นั่นแปลว่าเขาเป็นตัวของตัวเองในเวอร์ชั่นที่ไม่กล้าออกจากเซฟโซน
เราว่า ‘เราไม่มีตัวตนในการเป็นตัวของตัวเอง’ เราสามารถเปลี่ยนรูปแบบได้ตลอดเวลา หรือถ้าพูดถึงเรื่องเสื้อผ้าที่เราใส่ ตอนเด็กเราก็ไม่ได้ใส่แบบนี้ ไม่ได้มีความชอบแบบนี้ แต่ปัจจุบันเราชอบอีกแบบหนึ่ง เราก็เปลี่ยนได้ทันที เราบอกว่าเราชอบฟังเพลงแบบนี้ แต่เราไปฟังอีกแบบหนึ่ง เราอาจจะชอบอีกแบบหนึ่งได้ทันที เพราะฉะนั้นเราว่า ‘เราไม่จำเป็นต้องมีตัวตนที่เป็นตัวของตัวเอง’ เราเป็นอะไรก็ได้ที่มีความสุขในช่วงเวลานั้น ๆ
เเละเราสามารถที่จะเเสดงความเป็นตัวเองออกมาผ่านอะไรได้บ้าง
การเป็นตัวของตัวเองสำหรับเรามันคือการดึงสิ่งที่ชอบจากของคนอื่นมาเป็นของเรา โดยเเสดงออกมาผ่านความชอบ ที่ทำแล้วมีความสุขหรือเปล่า? หรือบางคนการเป็นตัวของตัวเองอาจจะชอบทำตามคนอื่นก็ได้ มันไม่ได้ผิดถ้าเขามีความสุข เขาก็อาจจะเป็นตัวของตัวเองที่จะทำแบบนั้นก็ได้
อย่างเราชอบวาดรูป ชอบร้องเพลง ชอบโดนชม เราว่าเราโดนชมแล้วเรามีความสุข เราก็จะทำสิ่งนั้นไปเรื่อย ๆ เพราะเรามีความสุข ก็เหมือนกันกับเพจ Tiracheep ที่เป็นรวมผลงานด้านศิลปะการวาดรูปของเรา ซึ่งใจความสำคัญของมันเหมือนกับการตามหาเพื่อวกกลับมามองตัวเอง ส่วนใหญ่จะเป็นการถามคนในมุมมองที่เราอยากรู้ว่าเราคิดแบบนี้แล้วคนอื่นเขาคิดอย่างไร แล้วค่อยมาตกตะกอนว่าสุดท้ายแล้วเรามองภาพรวมมันออกมาอย่างไร
แล้วภาพประกอบที่ออกมามันค่อยสื่อสารถึงตัวคนนั้น ๆ ว่าจะเล่าถึงเรื่องอะไร เราไม่ใช่นักวาดประกอบที่สามารถอยู่ ๆ มา ด้นได้เลยว่าวันนี้ฉันอยากวาดอันนี้ วันนี้เส้นอันนี้ ปื๊ดเดียวเสร็จเลย ทำไม่ได้ เราว่าเราไม่ใช่นักวาดแต่เป็นนักคิดมากกว่า คือเราชอบคิดที่จะตีโจทย์ในต่าง ๆ มันต้องมีโจทย์มายก่อน เช่น บทสัมภาษณ์ของคนนี้ แล้วเราค่อยตีความออกมาเป็นภาพ ภาพที่เห็นที่มันดูเป็นลายเส้นง่าย ๆ ของเรา ที่จริงแล้วเราไม่สามารถวาดขึ้นมาได้เลย เราผ่านการสเก็ตมาประมาณ 5 – 10 แบบ เส้นก็แบบลวก ๆ รก ๆ จนกว่าจะตัดทอนออกมาเป็นแบบวาดออกมาทีเดียวได้
ที่จริงแล้วมันก็เหมือนกับว่าเป็นตัวของตัวเองในสไตล์วาดรูป ความจริงแล้วมันอาจจะไม่ใช่สไตล์ของเราก็ได้ แค่เราชอบแบบนี้ เราเลยพยายามที่จะวาดแบบนี้ เห็นไหมว่า แม้แต่วิธีการวาดรูปของเรา เรายังไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์เลย แต่ว่าเราอยากที่จะเป็นแบบนี้ เราเลยจำเป็นต้องวาด 5 – 10 ครั้ง จนกว่ามันจะออกมาเป็นไฟนอลในแบบที่เราชอบ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว
เพจ ‘บ้านกูเอง’ ภาพมันออกมาดูตลก แต่เราจริงจังในการคิดในการตีโจทย์ ให้มันออกมาตลกให้ได้มากกว่า เราไม่ได้เป็นตลก อยู่ ๆ จะมาทำปุ๊บมันตลกเลย เราตีโจทย์ เราคิดแทนคนอื่นว่าคนอื่นคิดอย่างไร เเล้วแตกมาเป็น Story Line ตีโจทย์ออกมาเป็นเนื้อเรื่องได้ ความจริงแล้วตัวละครในเพจบ้านกูเอง มันไม่ได้เป็นตัวตลก มันไม่เคยจงใจให้คนอื่นขำแม้แต่ครั้งเดียว มันแค่จะพยายามจะตั้งคำถามอะไรบางอย่าง มันพยายามจะโกง เพื่อเอาเปรียบทุกครั้งในแต่ละคอนเทนต์ มันพยายามจะแซงคิว มันพยายามจะขโมย มันพยายามจะสวมรอย พยายามจะเอาเปรียบคนอื่นตลอดเวลา โดยที่มันไม่เคยคิดว่าสิ่งที่มันทำตลกเลย แค่คนอื่นตลกมันไปเอง
ส่วนใหญ่เพจบ้านกูเอง มันเป็นเหมือนเพจที่ตั้งคำถามว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ซึ่งมันก็เป็นทัศนคติของเราโดยพื้นฐานเองว่า ‘ทำไมก่อนสังคมบอกว่าต้องทำแบบนี้ แล้วทำไมทำแบบนี้ไม่ได้’ เพราะฉะนั้นใจความหลักของการคิดงานจริง ๆ อาจจะไม่ค่อยแตกต่างจากเพจ 'Tiracheep' เท่าไร เพราะมันคือการตั้งคำถามเหมือนกัน
คนคนหนึ่งไม่จำเป็นต้องรูปแบบเดียว คาแร็กเตอร์เดียวตลอดเวลา
เเล้วระหว่างเพจบ้านกูเอง กับ เพจ Tiracheep เพจไหนเเสดงความเป็นตัวเองของคุณนอทมากที่สุด
ด้วยความที่เพจบ้านกูเอง มันเป็นงานแล้ว แทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ของทุกโพสต์เป็นงานลูกค้า คืองานที่ได้เงินทั้งหมด เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรา 100 เปอร์เซ็นต์ แน่ ๆ บรีฟก็บรีฟจากลูกค้า ตีโจทย์ ปรับแก้ ตามลูกค้า เราอาจจะสู้กับเขาระดับหนึ่ง แต่ถ้าสุดท้ายเขาต้องการแบบนั้นจริง ๆ เราก็ต้องตามลูกค้า
แต่ในขณะที่ Tiracheep มันไม่ได้มีใครมาจ้าง มันก็ทำไปตามความรู้สึกที่เราอยากจะทำ มันค่อนข้างที่จะเป็นตัวเองสูงกว่า แต่ว่ามันก็เพราะเรื่องงาน เรื่องเงิน ถ้าเพจบ้านกูเองปราศจากเงิน มันก็คือตัวเรา ถ้า Tiracheep ปราศจากเงิน มันก็คือตัวเราอยู่ดี หรือแม้แต่การได้เงินมันก็เป็นตัวเราอยู่ดี เพราะเราเป็นคนตัดสินใจที่จะเอาเงิน เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าอันไหนเป็นตัวเองมากกว่า ทั้งสองอันเป็นตัวเรา เพราะว่าคนคนหนึ่งไม่จำเป็นต้องรูปแบบเดียว คาแร็กเตอร์เดียวตลอดเวลา เราจะตลกก็ได้ เราจะมาคิดเยอะทำวาดรูปก็ได้
นอกเหนือจากชอบวาดรูป ร้องเพลง เเล้ว มีอย่างอื่นที่ชอบอีกไหม
เมื่อก่อนที่บ้านเรา แม่เราชอบอ่านการ์ตูนมาก มีพวกการ์ตูนตาหวานเยอะมาก แล้วเราก็เลยอ่านพวกการ์ตูนตาหวาน พวกแบบการ์ตูนโซเนนกว่า ๆ ก็อ่าน มันคือการ์ตูนวัยรุ่นผู้ชาย ส่วนใหญ่ชอบเรื่องดาร์ก ๆ ชอบเรื่องเครียด ๆ ชอบเรื่องมีคนตาย ชอบอ่านการ์ตูนที่เห็นเบื้องลึกของมนุษย์ เป็นอย่างไร หลอกกันอย่างไรได้บ้าง
มีเรื่องนี้! เรื่อง ‘อิคิงามิ’ มันเป็นเนื้อเรื่องเกี่ยวกับประเทศหนึ่งที่มันไม่ได้มีอยู่ในโลกของความเป็นจริง เป็นประเทศที่มีกฎหมายผู้ผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติ ก็คือการที่เด็กทุกหนึ่งพันคน จะต้องฉีดยา และเด็กในประเทศต้องฉีดยา แต่ในทุกหนึ่งพันคนจะมีคนหนึ่งที่พออายุครบ 25 ปี จะต้องตายจากตัวยานี้ มันเป็นหมายที่ทำให้คนทั้งประเทศระลึกไว้เสมอว่า สักวันหนึ่งเราอาจจะตายก็ได้นะ งั้นเรามาพยายามทำให้ทุกวันเป็นวันที่ดีกันเถอะ เพราะพรุ่งนี้เราอาจจะตาย
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครใช้ชีวิตโดยคำนึงสิ่งเหล่านั้นหรอก พระเอกมีหน้าที่ยื่นสารก่อนตาย 24 ชั่วโมง แล้วหลังจากนั้นมันก็จะเป็นเนื้อเรื่องของคน ๆ นั้น ว่า 24 ชั่วโมง ที่เหลือเขาทำอะไร บางคนก็กลับแก้แค้นที่ตอนเด็กโดนบลูลี่ บางคนมีน้องสาวที่ตาบอด จะเสียสละตาตัวเองให้น้อง แต่น้องจับได้ ก็เลยขอความร่วมมือคนทั้งโรงพยาบาลเพื่อที่จะหลอกน้องสาวตัวเองว่าไม่จริงนะ มันเห็นเบื้องลึกของมนุษย์ว่า ถ้าสุดท้ายจะต้องตาย คุณเอาเวลาไปทำอะไร ? บางคนทำเลว บางคนทำดี บางคนทำเพื่อคนอื่น บางคนทำเพื่อตัวเอง
เเล้วรูปนี้คืออะไร
อันนี้มันเป็นส่วนต่อยอดของ Thesis เรา ชื่อว่า ‘เพศไม่เท่ากับสภาพ’ Thesis ของเราที่มันเป็นคลิปวีดิโอ ‘เพศไม่เท่ากับสภาพ’ มันตีความออกมาก็คือ เป็นการเล่นคำ จากปกติที่เราจะได้ยินคำว่า ‘เพศสภาพ’ เพศสภาพ แปลว่า คุณมีสภาพเป็นอย่างไร คุณก็เป็นเพศนั้น เช่น เกิดมามีจู๋ก็เป็นผู้ชาย เกิดมีจิ๋ม ก็เป็นผู้หญิง เพศไม่เท่ากับสภาพ เป็นการพูดย้อนกลับ ‘เพศ’ ไม่ใช้ตัวกำหนดรูปลักษณ์และการกระทำของคุณ เพราะฉะนั้นแปลว่าคุณเกิดมาเป็นเพศอะไร คุณจะเป็นเพศอะไรก็ได้ แล้วคุณจะทำตัวอย่างไรก็ได้
ซึ่งภาพนี้ เราตั้งชื่อมันว่า ‘ขึ้นชื่อว่าธรรมชาติ จึงไม่เสมอไป’ ในที่นี้ ในตัวบุคคลของแต่ละคนจะมีความผสมผสานในแต่ละเพศ ซึ่งไม่สามารถกำหนดได้ว่าคนไหนเป็นเพศอะไร แล้วก็ทุกคนกลับหัวกลับหาง บางคนเดินข้างบน บางคนเดินข้างล่าง บางคนเดินลอยกลางอากาศ ทางฟ้ากับพื้นดินสลับที่กัน แต่เมฆไม่ได้พลิกกลับไปด้วย มันก็พลิกในด้านที่ถูกของมัน เรารู้สึกว่า คนเราชอบบอกว่าธรรมชาติสร้างมนุษย์มาให้เป็นเพศชาย เพศหญิง คุณก็ต้องเป็นไปตามธรรมชาติสิ บางคนที่ยังมี Mindset แบบนี้ เรารู้สึกว่า ไม่จริง ธรรมชาติเป็นอะไรที่โคตรไม่แน่นอนเลย เพราะฉะนั้นยิ่งเป็นธรรมชาติสิ ยิ่งไม่แน่นอน การเป็นตัวเองของเรา ก็เป็นไปตามธรรมชาติ ที่เราอยากจะให้มันเป็น
เเล้วการเป็นตัวของตัวเองของคุณนอทที่เชื่อมกับงานนี้คืออะไร
การเป็นตัวเองของเราที่เชื่อมกับงานนี้ ก็อาจจะเป็นเรื่องของการมองเพศชาย คือเราก็ยังยึดว่าเราเป็นเพศชายนะ แต่ว่าเราก็ไม่ได้มากำหนดว่าเพศชายต้องแบบนี้ ๆ การเป็นตัวของตัวเองของเรา เราอาจจะชอบการใส่เสื้อผ้าผู้หญิง เราอาจจะสะดวกใจที่จะแต่งตัวด้วยชุดผู้หญิงมากกว่า อาจจะชอบเครื่องประดับ อาจจะชอบเซเลอร์มูน อาจจะชอบ Little Pony ชอบอะไรที่มันดูมีความเป็นผู้หญิง แล้วก็ยังชอบอะไรที่มันดูมีความเป็นผู้ชาย อาจจะแสดงกริยาบางอย่าง แบบว่าคำพูดอย่าง เหมือนจะไม่ใช่ผู้ชาย แต่มันก็เป็นแค่กรอบที่กำหนดที่สังคมส่วนใหญ่มองเห็น แต่เราไม่จำเป็นต้องทำตามสังคมส่วนใหญ่ก็ได้
สุดท้ายเเล้วจะเป็นตัวของตัวเองที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร
เราคิดว่า 'เราไม่จำเป็นต้องดีขึ้นก็ได้ เราย่ำอยู่กับที่ก็ได้ ถ้าเรามีความสุข' คนเราไม่จำเป็นต้องดีขึ้นก็ได้ นอกเสียจากมันจะเลวระยำ จนแบบว่าต้องพัฒนาตัวให้ดีขึ้นแล้วล่ะ! เราไม่ได้อยากยิ่งใหญ่ รวยจนมีธุรกิจร้อยล้าน เราแค่สนุกกับตอนนี้ ในตอนชีวิตดีขึ้น ชีวิตรวยเราอาจจะเครียดกว่าก็ได้ อาจจะลำบากกว่าก็ได้ เลยคิดว่า เราควรหาจุดที่มันโอเคก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องดีขึ้น